วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทักษะการชกมวย

การสอนศิลปะมวยไทย

และ

การบริหารกายท่ามวยไทย



ผู้ที่มีลักษณะมวยไทยและได้ผ่านการฝึกชกมวยไทยมาแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง อดทน มีความแคล่วคล่องว่องไว มีความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเอง สามารถนำมวยไทยไปใช้ป้องกันตนเองเมื่อถึงคราวจำเป็นได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการที่เยาวชนไม่ได้รับการฝึกหัดมวยไทยเท่าที่ควรนั้น เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่เข้าใจว่า การเรียนมวยไทยนั้นต้องทำการชกต่อยต่อสู้กันอย่างดุเดือดถึงเลือดตกยางออกเหมือนบนเวที แต่แท้จริงแล้วมวยไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สามารถเรียนรู้ไปเพื่อเป็นศิลปะประจำตัว เพื่อการออกกำลังกายและการพักผ่อน เพื่อใช้ป้องกันตัวเมื่อยามคับขัน และถ้ามีความสามารถอาจฝึกเทคนิคชั้นสูงเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ สถานศึกษาจึงควรชี้แจงเหตุผลและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ศิลปะมวยไทยให้แก่ผู้ปกครองหรือผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ

การฝึกสอนศิลปะมวยไทยที่ถูกต้อง ก่อนอื่นควรสร้างความศรัทธาและแรงจูงใจที่ให้ผู้เรียน มีความรักและเข้าใจในศิลปะมวยไทยที่พอควร ควรเริ่มจากทักษะและวิธีที่ง่าย ๆ จนถึงขั้นตอนที่ยากขึ้นตามลำดับโดยเริ่มฝึกกิจกรรมที่เบา ๆ เป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ ๆ ในระยะสั้น จนถึงกิจกรรมที่หนักและนานขึ้นตามลำดับและให้คำนึงถึงสภาพและวัยของผู้เรียนด้วยหลักการสอนมวยไทยขั้นพื้นฐาน

การสอนศิลปะมวยไทยโดยทั่วไปมีหลักการเช่นเดียวกับวิชาพลศึกษา แต่ผู้สอนควรได้ตระหนัก เน้นถึงปัญหาและข้อควรคำนึงกล่าวมาแล้ว ตลอดทั้งใช้หลักจิตวิทยาในการสอนหลาย ๆ อย่างมาผสมผสานกัน โดยมีหัวข้อที่นำไปพิจารณาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังนี้

วัตถุประสงค์การเรียน
พฤติกรรมปลายทางของการเรียนรู้ศิลปะมวยไทย เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติไทย สามารถนำกิจกรรมมวยไทยไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการออกกำลังกายและการนันทนาการได้ บางครั้งอาจนำไปใช้ป้องกันเมื่อถึงคราวจำเป็น ตลอดทั้งผู้ที่มีความสามารถพิเศษอาจนำไปประกอบอาชีพได้ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.1 เพื่อให้รู้ถึงประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของศิลปะมวยไทย

1.2 เพื่อให้รู้จักระเบียบประเพณีการฝึก การแข่งขันชกมวยไทย

1.3 เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และคุณค่าของมวยไทยและคุณสมบัติของนักมวยไทยที่ดี

1.4 เพื่อให้เกิดความศรัทธาและตระหนักในความสำคัญของศิลปะมวยไทย

1.5 เพื่อให้ให้สามารถเลือกกิจกรรมมวยไทยมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการออกกำลังกายและการนันทนาการได้

1.6 เพื่อให้สามารถใช้ทักษะมวยไทยในการป้องกันตัวหรือเพื่อประกอบอาชีพได้ ถ้ามีความสามารถ

1.7 เพื่อแสดงออกถึงการมีศิลปะมวยไทยประจำตัวให้เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติได้

2.เนื้อหาสาระในการเรียนรู้ศิลปะมวยไทย

มีหัวข้อที่ควรเรียนรู้ที่ผู้เรียนควรได้ศึกษาและทำความเข้าใจตามลำดับ ส่วนในแต่ละหัวข้อจะเรียนละเอียดลึกซึ้งเพียงใดควรให้พิจารณาตามความเหมาะสมและประสบการณ์พื้นฐานของผู้เรียน คือ

ประวัติความเป็นมาของศิลปะมวยไทย
ระเบียบประเพณี คุณค่า และการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับมวยไทย
ทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมวยไทย การตั้งท่าการเคลื่อนที่ การแต่งกาย และการบำรุงรักษาสุขภาพเป็นต้น
การใช้อาวุธหมัด หมัดตรง หมัดสอยดาวและหมัดสวิง หรือหมัดเหวี่ยง
การใช้อาวุธศอก ศอกตี ศอกตัด ศอกกระทุ้ง และศอกกลับ
การใช้อาวุธเตะ เตะตรง เตะเฉียง เตะตัด เตะตวัด และเตะจระเข้ฟาดหาง
การใช้อาวุธถีบ ถีบตรง ถีบด้วยส้นเท้า ถีบจิกด้วยปลายเท้า แลถีบแล้วขยุ้มด้วยปลายเท้า
การใช้อาวุธเข่า เข่าโหน เข่าตี เข่าตัด เข่าลอย และเข่าลา
ไม้มวยไทย แม่ไม้มวยไทย ลูกไม้มวยไทย
การไหว้ครู การขึ้นพรหม การรำมวยประเพณีการแข่งขันชกมวยไทย
ประเพณีและระเบียบกติกาการแข่งขันมวยไทยที่ควรทราบ
การฝึกกายบริหารท่ามวยไทย ท่าถวายบังคับ ท่ารำมวยไทย ท่าทักษะมวยไทย ท่าการใช้และการป้องกัน อาวุธ หมัด ศอก เข่า และการเตะ
3.ลำดับขั้นในกาสอนศิลปะมวยไทย

ในการสอนแต่ละครั้งหรือแต่ละเรื่อง ควรลำดับขั้นการสอนให้ครบทุกขั้นตอนหรือเลือกใช้ให้เหมาะสมดังต่อไปนี้

ขั้นสร้างความสนใจ เป็นขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเร้าให้เกิดความสนใจกิจกรรมที่นำมาใช้ในขั้นนี้ เช่น การสนทนาซักถาม การแสดงประวัตินักมวยไทยในอดีต การยกตัวอย่างนักมวยไทยในปัจจุบัน การแสดงภาพและข่าวสารทางสื่อมวลชน ฯลฯ
ขั้นเตรียม เพื่อสร้างความพร้อมทั้งจิตใจและร่างกาย เช่น การตรวจสภาพความเจ็บป่วย การอบอุ่นร่างกาย การปฏิบัติตามแบบฉบับการฝึกมวยไทย การทบทวนประสบการณ์เดิม การฝึกกายบริหารท่ามวยไทย ฯลฯ
ขั้นฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยการฝึกทักษะต่าง ๆ ตามแบบฉบับของมวยไทย เช่น การใช้อาวุธหมัด การใช้อาวุธศอก การใช้อาวุธเตะ ฯลฯ ในขั้นนี้อาจผสมผสานลักษณะท่าการฝึกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย วิธีการฝึกอาจใช้วิธีการสาธิต การปฏิบัติจริงเป็นรายบุคคลหรือเป็นคู่ เป็นกลุ่มแล้วแต่ความเหมาะสม
ขั้นสรุป เป็นขั้นประเมินผลการเรียนการสอนการติชมและการเสนอแนะผู้เรียน เพื่อให้นำไปแก้ไขในสิ่งบกพร่องตามที่ได้ฝึกปฏิบัติมา และชมเชยในสิ่งที่ปฏิบัติได้ดีมีการนัดหมายการฝึกครั้งต่อไป การตรวจสอบความเจ็บป่วยและผลการเรียนจากผู้เข้าฝึกปฏิบัติ ตลอดทั้งการส่งเสริมประสบการณ์เรียนรู้ ด้วยตนเองในโอกาสต่อไป เป็นต้น
ขั้นถ่ายโอนประสบการณ์เรียนรู้ เป็นขั้นที่ผู้สอนแนะนำให้ผู้เรียนไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การอ่านหนังสือเพิ่มเติม การติดตามข่าวและเหตุการณ์ทางสื่อมวลชน การประกวดภาพบทความ คำขวัญเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปะมวยไทย การจัดนิทรรศการ การสนทนา หรือสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์ ฯลฯ เป็นต้น
4.การประเมินผลการเรียนและการปฏิบัติศิลปะมวยไทย

ควรประเมินผลการเรียนและการปฏิบัติในเรื่องศิลปะมวยไทยให้ครบทั้ง 3 ลักษณะให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน คือ

4.1 ในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น ประวัตความเป็นมา และวิวัฒนาการของมวยไทย คุณค่าและระเบียบประเพณีเกี่ยวกับมวยไทย หลักการและวิธีการใช้อาวุธต่าง ๆ สำหรับมวยไทย ยกตัวอย่างการปฏิบัติตนเป็นนักมวยไทยที่ดี บอกวิธีการและระเบียบกติกามวยไทยได้ ฯลฯ

4.2 ในด้านความรักความซาบซึ้งในศิลปะมวยไทย เช่น การตระหนักในความสำคัญของศิลปะมวยไทย ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ คนไทยทุกคนต้องมีศิลปะประเภทนี้ประจำตัวทุกคน ฯลฯ

4.3 ในด้านทักษะความสามารถ เช่น การแสดงท่ากายบริหารมวยไทย การแสดงท่าไหว้ครู ท่ารำ ท่าการใช้อาวุธมวยไทย หรือถ้าเป็นไปได้อาจทำการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นก็ได้ ฯลฯ



http://learn.wattano.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น