วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง

ชีวิตแบบพึ่งพาและพอเพียง มิใช่พึ่งพิงและไม่เพียงพอ
ความสุขในชีวิตของคนทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่การงานหรือระดับเงินเดือน แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นมีความรู้เท่าและตามทันจิตใจของตัวเองได้มากน้อยเพียงใดมากกว่า คนทำงานทุกคนจะมีทั้งความสุขและความทุกข์คละเคล้ากันไป ไม่ใช่ว่าคนระดับล่างจะมีแต่ความทุกข์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงจะมีแต่ความสุขความอย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักคำว่าพอเพียงมากกว่ากัน ตอนเราเริ่มทำงานใหม่ๆ เราคิดว่าถ้าเงินเดือนมากพอๆกับหัวหน้าของเราในตอนนั้น เราน่าจะมีความสุขและเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราได้เงินเดือนพอๆกับเงินเดือนหัวหน้าหรืออาจจะมากกว่า แต่ทำไมเรารู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยพออีกเหมือนเดิม เราเคยหวังว่าถ้าได้เป็นผู้จัดการเราน่าจะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น แต่เมื่อเป็นแล้วยังตอบไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าสุขหรือทุกข์

ความไม่รู้จักพอของเรานี่เองจะนำเราไปสู่ความทุกข์ การไขว่คว้าในสิ่งที่ไม่ใช่สาระที่แท้จริงในชีวิต บางคนทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองและความร่ำรวย บางคนทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก บางคนทำทุกวิถีทางที่จะให้ตัวเองดูดี หรือมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ชื่อเสียงทางสังคม โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มานั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตหรือไม่มากน้อยเพียงใด สักแต่ต้องการและต้องไขว่คว้าให้ได้มาก่อนเท่านั้น



มีสุภาษิตไทยกล่าวว่า “ยิ่งดิ้นยิ่งรัด” น่าจะเหมาะสมกับสังคมคนทำงานของเราในปัจจุบันนี้มากทีเดียว เพราะหลายชีวิตได้สร้างปมปัญหาในชีวิตขึ้นมา อาจจะโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ทุกคนพยายามดิ้นรนเพื่อแก้ปมปัญหาชีวิตนั้นๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราดิ้นโดยขาดสติ รับรองได้ว่ายิ่งดิ้นมากเท่าไหร่ ปมที่ต้องการจะแก้ก็จะรัดแน่นมากขึ้น เผลอๆอาจจะสร้างปมปัญหาชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาอีกก็ได้ เช่น คนบางคนเป็นหนี้เพียงเล็กน้อย แต่ต้องการใช้หนี้ให้หมด ก็เลยคิดทำการใหญ่ ไปกู้เงินมาลงทุนเพื่อหวังทำกำไรไปใช้หนี้ แต่ที่ไหนได้ กลับสร้างหนี้ก้อนโตขึ้นมาอีก ทำให้ทุกข์ในชีวิตหนักขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว



ปัญหาชีวิตที่หลายคนประสบมักจะเกิดจากความไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต คนที่คิดฆ่าตัวตายไม่ใช่คนที่ไม่มีข้าวกิน ไม่ใช่คนที่ไม่มีที่ซุกหัวนอน แต่มักจะเป็นคนที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงแล้ว แต่มีความต้องการนอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ และเมื่อไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้จึงรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนี้ไม่มีความหมายอีกต่อไป ทั้งๆที่สิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่หวังนั้นไม่ใช่สาระสำคัญอะไรในการดำรงชีวิตอยู่ บางคนอาจจะผิดหวังเรื่องการเรียน บางคนอาจจะผิดหวังเรื่องความรัก บางคนอาจจะผิดหวังเรื่องเงินๆทองๆ บางคนไม่สมหวังเรื่องหน้าที่การงาน



ดังนั้น ประเด็นปัญหาในชีวิตส่วนมากจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวปัญหาจริงๆ แต่มักจะอยู่ที่การปั้นแต่งปัญหาขึ้นมาต่างหาก คนเรามักจะปรุงแต่งสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นปัญหาให้มีอิทธิพลต่อจิตใจของตัวเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองได้ สุดท้ายก็ตกเป็นทาสทางความคิดที่คอยมาตามหลอกหลอนอยู่เรื่อยไป

การบริหารชีวิตที่มีความสุขควรยึดหลักที่สำคัญ 2 ประการคือ

การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
หมายถึงการเข้าใจและรับรู้ว่าศักยภาพของเราอยู่ตรงไหน สิ่งที่ได้มาหรือมีอยู่เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ สิ่งที่เราต้องการจะไขว่คว้ามีความสำคัญกับชีวิตเรามากน้อยเพียงใด ถ้าเราผิดหวังในสิ่งที่เราต้องการจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง กำลังใจที่ดีที่สุดเมื่อเราอยู่ในภาวะท้อแท้และผิดหวังคือการนึกถึงความสำเร็จในอดีตเพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง เราต้องนึกถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ว่าเราเกิดมามีเพียงร่ายกายและจิตใจเท่านั้น ไม่ได้เอาอะไรมาเลย สิ่งต่างๆที่เราคิดว่าเป็นของเรานั้นมันเกิดขึ้นมาทีหลังทั้งสิ้น และเป็นสิ่งสมมติขึ้นมาทั้งนั้น

ในชีวิตของคนทำงานก็เช่นเดียวกันควรจะรู้ว่าความพอเพียงของตัวเองอยู่ตรงไหน หน้าที่การงานที่ทำอยู่เหมาะสมกับศักยภาพของเราหรือไม่ อย่าเป็นคนทะเยอทะยานจนเกินตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามไม่ให้มีความทะเยอทะยานนะครับ แต่ขอให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปได้ การไม่รู้จักพอเป็นเส้นทางนำคนหลายคนไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะมามากต่อมากแล้ว


http://www.peoplevalue.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539104559&Ntype=7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น